ระวัง "โรคติดเน็ต"

Started by zilog, September 24, 2013, 10:33:27 AM

Previous topic - Next topic

zilog

คุณอาจได้ยินคำว่าเด็กติดเน็ตจนคุ้นหูและคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ตอนนี้โรคนี้ไม่ธรรมดาอีกต่อไป เพราะมันเริ่มขยายแนวรบสู่พวกผู้ใหญ่ที่เชื่อกันว่ามีวุฒิภาวะและความ ยับยั้งชั่งใจมากกว่าเด็ก

เมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว ตอนที่ดอกเตอร์คิมเบอร์ลี ยัง (Kimberly Young) นำเสนองานวิจัยชื่อ "การติดเน็ต : การเกิดของโรคชนิดใหม่" (Internet Addiction: The Emergence of a New Disorder) ต่อที่ประชุมประจำปีของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน วงการจิตแพทย์ส่วนใหญ่พากันวิพากษ์วิจารณ์ไม่ยอมรับว่าการติดเน็ตเป็นการ ป่วยหรือโรคชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับการติดเหล้าติดบุหรี่หรือติดการพนัน แต่ทุกวันนี้ประเทศที่ประชากรใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ล้วนเห็นตรงกันว่าอาการติดเน็ตเป็นปัญหาด้านการสาธารณสุข

ผลเสียของการติดเน็ตนั้นมากมาย ทั้งเสียเวลา เสียสุขภาพ เสียความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง และหน้าที่การงาน บางคนเป็นหนักมีอาการเช่นเดียวกับติดยาเสพติดเลยทีเดียว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา เคยทดสอบโดยให้นักศึกษาประมาณ ๒๐๐ คนงดใช้เครื่องมือสื่อสารทุกประเภท ๑ วันเต็ม ปรากฏว่านักศึกษากลุ่มตัวอย่างมีอาการกระวนกระวายเหมือนขาดยา นักศึกษาคนหนึ่งถึงกับบอกว่าหากไม่ได้ส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้แชตผ่านอินเทอร์เน็ต จะรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว

ในหนังสือคู่มือและแนวทางการประเมินและรักษาการติดเน็ต (Internet Addiction: A Handbook and Guide to Evaluation and Treatment) ของดอกเตอร์คิมเบอร์ลี ยัง ซึ่งตีพิมพ์เมื่อตุลาคมปีที่แล้ว บอกว่าไม่มีใครรู้ว่าอาการติดเน็ตรุนแรงกว้างขวางแค่ไหน แต่ผลการศึกษาระดับชาติของมหาวิทยาลัยการแพทย์สแตนฟอร์ดพบว่า ๑ ใน ๘ ของคนอเมริกันมีปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไป และนับวันยิ่งมีสถานบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดเน็ตเพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐอเมริกา และทั่วโลก

เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกๆ ที่ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง จนปัจจุบันประชากรเกือบร้อยละ ๘๐ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตกำลังเผชิญกับโรคติดเน็ตอย่างรุนแรง เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวน่าเศร้าว่าพ่อแม่ปล่อยให้ลูกวัย ๓ เดือนอดตายเพราะติดเกมเลี้ยงลูกทางอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้รัฐต้องเป็นสปอนเซอร์ตั้งศูนย์บำบัดผู้ติดเน็ตถึง ๑๔๐ แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้คนติดเน็ตเข้ามาใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ในประเทศจีนซึ่งตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี ๒๕๕๓ ระบุว่าสูงถึง ๓๘๔ ล้านคน เท่ากับประชากรสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศ ก็มีปัญหาคนติดเน็ตเช่นกัน ประมาณว่าร้อยละ ๑๐ ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนเป็นโรคติดเน็ตอย่างรุนแรง ทำให้เกิดสถานบำบัดและฟื้นฟูมากมาย พ่อแม่ต้องจ่ายเงินค่าบำบัดอาการติดเน็ตถึงหลักสูตรละประมาณ ๓ หมื่นบาท แต่มีข่าวไม่ดีนักว่าสถานฟื้นฟูหลายแห่งใช้วิธีฝึกแบบทหารและใช้การช็อร์ ตด้วยไฟฟ้าจนทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขจีนต้องประกาศว่าการช็อร์ตด้วยไฟฟ้าไม่อาจบำบัดการติดเน็ต ได้

คุณอาจสงสัยว่าเขาบำบัดอาการติดเน็ตกันอย่างไร...เผื่อนำไปใช้กับตัวเอง รูปแบบที่ได้ผลที่เกาหลีใต้คือการเข้าค่าย ๑๒ วัน เพื่อฝึกให้ผู้ติดเน็ตมีกิจกรรมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสังคมมากขึ้น ทั้งนี้เพราะเด็กติดเน็ตส่วนใหญ่ไม่รู้จักทักษะการเข้าสังคมนอกสังคมออ นไลน์ กิจกรรมที่ทำในค่ายได้แก่ การออกกำลังกาย ทำเครื่องปั้นดินเผา ตีกลอง หรือเล่นเกมต่อสู้กับเพื่อนตัวเป็นๆ ซึ่งเด็กติดเกมบางคนยอมรับว่าสนุกกว่าเกมออนไลน์เสียอีก ทั้งนี้ยังจำกัดให้ใช้โทรศัพท์วันละไม่เกิน ๑ ชั่วโมงเพื่อป้องกันการเล่นเกมหรือแชตกับเพื่อน

ใน Internet Addiction: A Handbook and Guide to Evaluation and Treatment ระบุว่าวิธีการบำบัดที่ได้ผลคือการพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ อาจคุยกับพ่อแม่ การเข้ากลุ่ม หรือเข้าศูนย์ฟื้นฟู

แต่หากคุณเป็นพวกเชื่อเทคโนโลยีและเริ่มรู้ตัวว่าติดเน็ตแต่ไม่อยากพูด คุยแลกเปลี่ยนหรือทำกิจกรรมกับใคร คุณอาจใช้วิธีเดียวกับ แดน ไนแนน นักแสดงตลกในนิวยอร์กที่มีปัญหาติดเน็ตจนไม่อาจเขียนหนังสือให้เสร็จ ต้องเลือกใช้โปรแกรมบล็อกอินเทอร์เน็ตครั้งละ ๒ ชั่วโมงเพื่อทำงานให้ลุล่วง

โปรแกรมเหล่านี้นับวันจะได้รับความนิยมชนิดที่ถูกจัดให้เป็นเทรนด์หลัก ของยุคคลั่งเน็ตเลยทีเดียว เมื่อปีที่แล้วนายก-รัฐมนตรีเกาหลีใต้แถลงว่ารัฐบาลจะออกซอฟต์แวร์แก้ปัญหา คนติดเกมและติดอินเทอร์เน็ตมาให้ใช้กันฟรีๆ ในปีหน้า เพื่อแก้ปัญหาคนเกาหลีใต้ติดเน็ตกันมากถึง ๔ ล้านคน โดยซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือโปรแกรมกำหนดเวลาปิดคอมพิวเตอร์ เมื่อถึงเวลาเครื่องก็จะปิดตัวเองโดยอัตโนมัติ อีกโปรแกรมคือโปรแกรมสร้างความเหนื่อยล้าจากการเล่นเน็ต เช่น ยิ่งเล่นเกมนานเท่าไรเกมก็จะยิ่งยากขึ้น สุดท้ายก็จะเบื่อและเลิกเล่นไปเอง

ถามว่าทำไมไม่บังคับใจตัวเอง ? คำตอบของคนติดเน็ตหลายคนอาจคล้ายคำตอบของ แดน ไนแนน ที่ว่าไม่มีวินัยและไม่อาจบังคับใจตัวเองได้ จนต้องหาเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเป็นตำรวจหรือผู้คุมใจตัวเอง

บางคนแย้งว่าไม่ใช่ว่ารู้ดีแต่ไร้วินัย แต่ถึงขั้น "ไม่รู้ตัว" เชียวละ กว่าจะรู้อีกทีก็นั่งหน้าจอจนผ่านชั่วโมงที่ ๓ ไปแล้ว และปวดหลังปวดไหล่จนแทบขยับตัวไม่ได้ หากเป็นเช่นนี้ขอนำเสนอโปรแกรมนาฬิกาแห่งสติ ซึ่ง เดวิด สไตเกอร์วอล์ด (David Steigerwald) พัฒนาให้ดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรีๆ (http://www.thaiplumvillage.org/bell/MindfulClock31.exe) ด้วยโปรแกรมนี้คุณจะตั้งเวลาให้เสียงระฆังดังขึ้นเป็นระยะได้ เช่นทุก ๑๕ นาที ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง เมื่อเสียงระฆังดัง ให้คุณกลับมาเจริญสติด้วยการรับรู้ลมหายใจเข้า-ออกสัก ๒-๓ รอบ และรู้ตัวว่าเล่นเน็ตไปครึ่งชั่วโมงแล้วนะ การเจริญสติโดยใช้เสียงระฆัง เสียงโทรศัพท์ หรือเสียงอื่นๆ แล้วแต่คุณกำหนดนี้ นำไปใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตค่ะ

สุดท้ายขอนำเสนอวิธีการที่ผู้เขียนกำลังใช้กับตัวเอง นั่นคือการเข้าค่ายที่มีตัวเองเป็นทั้งผู้คุมและผู้รับการบำบัด ด้วยการตั้งเพดานการใช้อินเทอร์เน็ตประจำวันให้ตัวเองว่าจะใช้วันละกี่ ชั่วโมง หากใช้เกินกว่านั้นให้ชดเชยหรือทำโทษตัวเองด้วยการทำความสะอาดบ้านหรือทำงาน อื่นด้วยเวลาที่เท่ากัน...บ้านสะอาดกว่าเดิมเยอะ


จาก http://www.sarakadee.com/2011/04/05/netmania/

zilog

ใครกำลังมีอาการ สารภาพมาเถิด อย่าให้ติดจนงอมแงมเสียละ

sonicm

ติดมาตั้งแต่สมัย โมเด็ม 56เคแล้ว